วันเสาร์, กันยายน 12, 2552

ประวัติจังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติจังหวัดอุบลราชธานี


      อุบลราชธานี เป็นเมืองใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ที่มีประวัติความเป็นมากว่า 200 ปี เล่ากันว่า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม และท้าวก่ำ ซึ่งเป็นบุตรหลาน พระวอ พระตา หนีภัยสงครามจากพระเจ้าสิริบุญสาร เจ้าแห่งนครเวียงจันทน์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของ พระเจ้าตากสินมหาราชและต่อมาได้สร้างเมืองขึ้นที่บริเวณดงอู่ผึ้ง ใกล้กับแม่น้ำมูล ครั้น พ.ศ. 2323 พระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาราชสุภาวดี เชิญตราพระราชสีห์มาพระราชทานนามเมืองว่า "อุบลราชธานี" ทรงให้ท้าวคำผงเป็นเจ้าเมืองคนแรกซึ่งต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระปทุมวงศา" เมืองอุบลราชธานีมีเจ้าเมืองสืบกันมาถึง 4 คน ตราบจนถึงปี พ.ศ. 2425 จึงได้มีการแต่งตั้งข้าหลวงและผู้ว่าราชการจังหวัดมาปกครองดูแลจนถึงทุกวันนี้
    อุบลราชธานีตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 629 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงและภูเขา มีแม่น้ำมูลไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ และมีหน้าผาหินทรายบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขงอันเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและลาว จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ประมาณ 15,744 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 20 อำเภอ และ 5 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดม บุณฑริก นาจะหลวย น้ำยืน พิบูลมังสาหาร โขงเจียม ศรีเมืองใหม่ ตระการพืชผล เขมราฐ ม่วงสามสิบ เขื่องใน กุดข้าวปุ้น ตาลสุม โพธิ์ไทร สำโรง สิรินธร ดอนมดแดง ทุ่งศรีอุดม กิ่งอำเภอนาเยีย กิ่งอำเภอนาตาล กิ่งอำเภอเหล่าเสือโก้ก กิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น




อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดอำนาจเจริญ
ทิศใต้ ติดกับราชอาณาจักรกัมพูชา ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก
ทิศตะวันออก ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดยโสธรและจังหวัดศรีสะเกษ

การเดินทาง
    รถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ไปสระบุรี เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 24 (สายโชคชัย-เดชอุดม) ไปจนถึงอุบลราชธานี หรือใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานี
     รถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกวันสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0 2936 2852-66 ที่อุบลราชธานี โทร. 0 4524 1831 www.transport.co.th
     รถไฟ จากสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) และสถานีบางซื่อ มีรถด่วน และรถเร็ว สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทุกวัน และยังมีรถธรรมดาจากนครราชสีมา-อุบลราชธานี และสุรินทร์-อุบลราชธานี อีกด้วย รายละเอียดสอบถามได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 www.railway.co.th
    เครื่องบิน บมจ.การบินไทย มีเครื่องบินรับส่งผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000 หรือที่จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 0 4531 3340-3 http://www.thaiairways.com/

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่าง ๆ
1.อำเภอวารินชำราบ 2 กิโลเมตร
2.อำเภอสำโรง 28 กิโลเมตร
3.อำเภอตาลสุม 32 กิโลเมตร
4.อำเภอม่วงสามสิบ 34 กิโลเมตร
5.อำเภอดอนมดแดง 35 กิโลเมตร
6.อำเภอเขื่องใน 38 กิโลเมตร
7.อำเภอเดชอุดม 45 กิโลเมตร
8.อำเภอพิบูลมังสาหาร 45 กิโลเมตร
9.อำเภอตระการพืชผล 50 กิโลเมตร
10.อำเภอทุ่งศรีอุดม 74 กิโลเมตร
11.อำเภอกุดข้าวปุ้น 76 กิโลเมตร
12.อำเภอสิรินธร 80 กิโลเมตร
13.อำเภอศรีเมืองใหม่ 83 กิโลเมตร
14.อำเภอบุณฑริก 87 กิโลเมตร
15.อำเภอโพธิ์ไทร 99 กิโลเมตร
16.อำเภอนาจะหลวย 100 กิโลเมตร
17.อำเภอเขมราฐ 108 กิโลเมตร
18.อำเภอโขงเจียม 110 กิโลเมตร
19.อำเภอน้ำยืน 110 กิโลเมตร
20.กิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์ 23 กิโลเมตร
21.กิ่งอำเภอเหล่าเสือโก้ก 27 กิโลเมตร
22.กิ่งอำเภอนาเยีย 35 กิโลเมตร
23.กิ่งอำเภอนาตาล 93 กิโลเมตร
24.กิ่งอำเภอน้ำขุ่น 97 กิโลเมตร

งานประเพณี
1.งานแห่เทียนพรรษา เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี จัดให้มีขึ้นทุกปีในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา สถานที่จัดคือบริเวณทุ่งศรีเมือง มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียนจะเคลื่อนขบวนจากหน้าวัดศรีอุบลรัตนารามไปตามถนนมาสิ้นสุดที่ทุ่งศรีเมือง ในตอนกลางคืนจะมีมหรสพและการแสดงสมโภชต้นเทียนและเห็นแสงไฟต้องลำเทียนงามอร่ามไปทั้งงาน
2.งานประเพณีมหาสงกรานต์แก่งสะพือ ในเดือนเมษายนของทุกปี ทางเทศบาลพิบูลมังสาหาร กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือขึ้นเป็นประจำ ในงานนอกจากจะมีการประกวดธิดาสงกรานต์แล้ว ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าของภาคเอกชน มีการละเล่นกีฬาพื้นเมือง และการประกวดการเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานอีกด้วย

3.งานเทศกาลไม้ดอกไม้ประดับ จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณสนามกีฬาทุ่งคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ กิจกรรมที่น่าสนใจ คือ ขบวนรถบุปผชาติ การประกวดและจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับ

4.งานประเพณีไหลเรือไฟ จัดขึ้นในช่วงวันออกพรรษา (ประมาณเดือนตุลาคม) บริเวณเชิงสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีกิจกรรมที่น่าสนใจคือ การไหลเรือไฟของคุ้มวัดต่างๆ

5.งานแข่งขันเรือยาวประเพณี ตามลำน้ำมูลในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงหลังจากเสร็จสิ้นงานบุญประเพณีออกพรรษา (ประมาณเดือนตุลาคม) แล้วมีการจัดแข่งขันเรือยาวประเพณีขึ้นหลายแห่ง และที่จัดขึ้นประจำได้แก่ เทศบาลเมืองอุบลฯ จัดขึ้นบริเวณสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี เทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร จัดขึ้นบริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำมูล วัดโพธิ์ตาก อำเภอพิบูลมังสาหาร จัดขึ้นบริเวณหน้างานประเพณี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น