วันเสาร์, กันยายน 12, 2552

ประวัติจังหวัดกาฬสินธุ์

ประวัติจังหวัดกาฬสินธุ์

 
กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าละว้า ซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ 1,600 ปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2336 โดยท้าวโสมพะมิตร ได้อพยพหลบภัยมาจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพร้อมไพร่พล และมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำปาว เรียกว่า "บ้านแก่งสำโรง" แล้วได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า "เมืองกาฬสินธุ์" หรือ "เมืองน้ำดำ" ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล "กาฬ" แปลว่า "ดำ" "สินธุ์" แปลว่า "น้ำ" กาฬสินธุ์จึงแปลว่า "น้ำดำ" ทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ท้าวโสมพะมิตรเป็น "พระยาชัยสุนทร" ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก

กาฬสินธุ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 519 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 7,055.07 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขาตามแนวเทือกเขาภูพาน ตอนกลางเป็นเนินเขา ลับป่าโปร่ง แบ่งการปกครองออกเป็น 14 อำเภอ 4 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอ ยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอสมเด็จ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอเขาวง อำเภอห้วยเม็ก อำเภอคำม่วง อำเภอหนองกุงศรี อำเภอนามน อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอร่องคำ กิ่งอำเภอสามชัย กิ่งอำเภอนาคู กิ่งอำเภอดอนจาน และกิ่งอำเภอฆ้องชัย

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดอุดรธานี สกลนคร
ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม
ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดสกลนคร มุกดาหาร
ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น และอุดรธานี

การเดินทาง
   รถยนต์ จากกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ ระยะทาง 519 กิโลเมตร ใช้เส้นทาง กรุงเทพฯ-สระบุรี-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 2) ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 23, 213 และทางหลวงหมายเลข 209 มหาสารคาม-กาฬสินธุ์
   รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ทุกวัน โดยมีบริการทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามที่ สถานีขนส่งจตุจักร (หมอชิต 2) โทร. 0 2936 2841, 0 2936 1880, 0 2936 2852-66 หรือ www.transport.co.th
   รถไฟ ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-สถานีรถไฟขอนแก่น จากขอนแก่นต่อรถประจำทางเข้ากาฬสินธุ์อีก 78 กิโลเมตร สำหรับกรุงเทพฯ-ขอนแก่นนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบริการทั้งขบวนรถเร็ว รถด่วน และรถดีเซลรางปรับอากาศ รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 สถานีรถไฟขอนแก่น โทร. 0 4322 1112 หรือ www.railway.co.th
    เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีเที่ยวบินบินตรงไปจังหวัดกาฬสินธุ์แต่สามารถใช้เส้นทางบินกรุงเทพฯ-ขอนแก่น แล้วต่อรถโดยสารเข้ากาฬสินธุ์ สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000 และ www.thaiairways.com หรือใช้บริการสายการบินพีบีแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ-ร้อยเอ็ด ซึ่งมีเที่ยวบินทุกวันยกเว้นวันอังคารและวันอาทิตย์ แล้วต่อรถโดยสารเข้ากาฬสินธุ์ สอบถามข้อมูลได้ที่โทร. 0 2261 0221-5 และ 0 4351 8572 หรือ http://www.pbair.com/




ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอ และกิ่งอำเภอต่างๆ ในจังหวัดกาฬสินธุ์
1.กมลาไสย 12 กิโลเมตร
2.ยางตลาด 16 กิโลเมตร
3.สหัสขันธ์ 39 กิโลเมตร
4.ร่องคำ 39 กิโลเมตร
5.สมเด็จ 40 กิโลเมตร
6.นามน 42 กิโลเมตร
7.ห้วยเม็ก 48 กิโลเมตร
8.ห้วยผึ้ง 60 กิโลเมตร
9.หนองกุงศรี 62 กิโลเมตร
10.กุฉินารายณ์ 79 กิโลเมตร
11.คำม่วง 81 กิโลเมตร
12.ท่าคันโท 99 กิโลเมตร
13.เขาวง 103 กิโลเมตร
14.กิ่งอำเภอฆ้องชัย 26 กิโลเมตร
15.กิ่งอำเภอดอนจาน 32 กิโลเมตร
16.กิ่งอำเภอสามชัย 85 กิโลเมตร
17.กิ่งอำเภอนาคู 88 กิโลเมตร

การเดินทางในตัวจังหวัดกาฬสินธุ์มีรถสามล้อถีบ และสามล้อเครื่อง (รถสกายแล็บ) รับจ้างอยู่ทุกถนน และยังมีรถโดยสารระหว่างตัวจังหวัดวิ่งไปยังอำเภอต่างๆ อีกด้วย

งานประเพณี

1.งานมหกรรมโปงลาง แพรวา และกาชาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดขึ้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ภายในงานประกอบด้วยขบวนแห่ของแต่ละอำเภอ ตกแต่งขบวนเป็นรูปเครื่องดนตรีโปงลางขนาดยักษ์ แต่งกายชุดพื้นเมือง แข่งขันสาวดีดไห การประกวดธิดาแพรวา และจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองต่างๆ

2.งานมหกรรมวิจิตรแพรวาราชินีแห่งไหม จัดขึ้นประมาณวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ณ โรงแรมริมปาว เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ สนับสนุนส่งเสริมและรับงานการทอผ้าไหมแพรวาของชาวผู้ไทยเข้าไว้ในโครงการ ศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ จนทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวผู้ไทยอีกด้วย ในงานจะมีการประกวดผ้าไหมแพรวา การแสดงแบบชุดแพรวา ขบวนแห่ทางวัฒนธรรม การสาธิตทอผ้าและจำหน่ายผ้าแพรวา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น