วันเสาร์, กันยายน 12, 2552

ประวัติจังหวัดชัยภูมิ

ประวัติจังหวัดชัยภูมิ





จังหวัดชัยภูมิตั้งอยู่บนสันขอบที่ราบสูงอีสาน ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับภาคกลางและภาคเหนือ เป็นดินแดนแห่งทุ่งดอกกระเจียวแสนงาม และสายน้ำตกชุ่มฉ่ำยามหน้าฝน เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน มีเทือกเขาที่สำคัญได้แก่ ภูพังเหย ภูแลนคา ภูพญาฝ่อ อันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำชี ด้านประวัติศาสตร์ ชัยภูมิมีอารยธรรมซ้อนทับกันหลายสมัย ตั้งแต่สมัยทวารวดี สมัยขอม จนถึงอิทธิพลลาวล้านช้าง มีการค้นพบโบราณสถานโบราณวัตถุมากมายในหลายพื้นที่ของจังหวัด ต่อมาปรากฏชื่อเป็นเมืองหน้าด่านในสมัยกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ภายหลังจึงร้างไป และมาปรากฏชื่ออีกครั้งในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยมีชาวเวียงจันทน์เข้ามาสร้างบ้านแปงเมือง มีผู้นำชื่อ แล ซึ่งต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองคนแรกของชัยภูมิ

ชัยภูมิอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 342 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 12,778 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองเป็น 15 อำเภอ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองชัยภูมิ อำเภอบ้านเขว้า อำเภอคอนสวรรค์ อำเภอเกษตรสมบูรณ์ อำเภอหนองบัวแดง อำเภอจัตุรัส อำเภอภูเขียว อำเภอบำเหน็จณรงค์ อำเภอบ้านแท่น อำเภอแก้งคร้อ อำเภอคอนสาร อำเภอเทพสถิต อำเภอหนองบัวระเหว อำเภอภักดีชุมพล อำเภอเนินสง่า และกิ่งอำเภอซับใหญ่

อาณาเขต
ทิศเหนือ จดจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดขอนแก่น
ทิศใต้ จดจังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันออก จดจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดนครราชสีมา
ทิศตะวันตก จดจังหวัดเพชรบูรณ์ และจังหวัดลพบุรี

การเดินทาง
  รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงสระบุรี แยกขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) แล้วแยกซ้ายเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ที่อำเภอสีคิ้ว ผ่านอำเภอด่านขุนทด อำเภอจัตุรัส เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ รวมระยะทางประมาณ 342 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่ง คือ จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านสระบุรี ถึงแยกพุแค แยกเข้าทางหลวงหมายเลข 21 ถึงอำเภอชัยบาดาล จากนั้นเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 205 ผ่านอำเภอเทพสถิต อำเภอจตุรัส เข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ
   รถโดยสาร มีบริการเดินรถ กรุงเทพฯ-ชัยภูมิ ทุกวัน ใช้เวลาเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง ติดต่อขอรายละเอียดได้ที่สถานีขนส่งหมอชิต 2 โทร.0 2936 2852-66 สถานีขนส่งชัยภูมิ โทร. 0 4481 1493 บริษัท แอร์ชัยภูมิ โทร. 0 4481 1556 นครชัยแอร์ โทร. 0 4481 2522 ชัยภูมิจงเจริญ โทร. 0 4481 1780 ชัยภูมิทัวร์ โทร. 0 44 81 6012 www.transport.co.th
  รถไฟ จากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) มีรถด่วน รถเร็ว กรุงเทพฯ-หนองคาย บริการทุกวันโดยลงที่สถานีบัวใหญ่ จากนั้นสามารถต่อรถโดยสารประจำทางไปชัยภูมิอีก 51 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียดได้ที่ แผนกบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 www.railway.co.th
   เครื่องบิน บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่มีบริการเที่ยวบินไปจังหวัดชัยภูมิ หากประสงค์จะเดินทางไปโดยเครื่องบินจะต้องลงที่จังหวัดขอนแก่น จากนั้นสามารถต่อรถโดยสารจากจังหวัดขอนแก่นย้อนกลับเข้าชัยภูมิ ระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือจะลงที่จังหวัดนครราชสีมา แล้วต่อรถโดยสารเข้าจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 119 กิโลเมตร สอบถามรายละเอียด โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000 www.thaiairways.com
    จากสถานีขนส่งชัยภูมิมีรถโดยสารประจำทางไปกรุงเทพฯ เลย เชียงใหม่ นครสวรรค์ นครราชสีมา ขอนแก่น เพชรบูรณ์-หล่มสัก พิษณุโลก ชุมแพ บัวใหญ่ คอนสวรรค์ หนองบัวแดง เกษตรสมบูรณ์ บ้านเขว้า สมอทอด คอนสาร ลำนารายณ์ บ้านไผ่ ติดต่อสอบถามสถานีขนส่งชัยภูมิ โทร. 0 4481 1493

ระยะทางจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ
1.บ้านเขว้า 13 กิโลเมตร
2.เนินสง่า 30 กิโลเมตร
3.หนองบัวระเหว 33 กิโลเมตร
4.คอนสวรรค์ 38 กิโลเมตร
5.จัตุรัส 39 กิโลเมตร
6.แก้งคร้อ 45 กิโลเมตร
7.หนองบัวแดง 53 กิโลเมตร
8.บำเหน็จณรงค์ 58 กิโลเมตร
9.ภูเขียว 77 กิโลเมตร
10.บ้านแท่น 81 กิโลเมตร
11.ภักดีชุมพล 85 กิโลเมตร
12.เกษตรสมบูรณ์ 90 กิโลเมตร
14.เทพสถิต 105 กิโลเมตร
16.คอนสาร 125 กิโลเมตร



งานประเพณี

งานฉลองอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-20 มกราคมของทุกปี ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดและสี่แยกอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพระยาแล มีขบวนแห่สักการะอนุสาวรีย์เจ้าพ่อ ขบวนถวายช้างแด่เจ้าพ่อ และขบวนแห่ของอำเภอต่างๆ รวมทั้งการออกร้าน จัดนิทรรศการของหน่วยงานต่าง ๆ และ การประกวดผลิตผลทางการเกษตร

งานประเพณีบวงสรวงเจ้าพ่อพระยาแล จัดที่บริเวณศาลหนองปลาเฒ่า จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-20 พฤษภาคม ของทุกปี ชาวบ้านจะไปเคารพสักการะดวงวิญญาณของเจ้าพ่อ และรำถวายเจ้าพ่อที่ศาลหลังเก่ากันเป็นจำนวนมาก

งานแห่เทียนเข้าพรรษา เป็นงานที่เทศบาลเมืองชัยภูมิจัดขึ้นทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (ประมาณเดือนกรกฎาคม) มีการประกวดเทียนพรรษาที่ประดิษฐ์อย่างสวยงาม เป็นงานที่มีประชาชนให้ความสนใจไม่แพ้งานแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี

นอกจากนี้ยังมีงานประเพณีอื่นๆ ที่จัดเป็นประจำทุกปี เช่นเดียวกับจังหวัดในภาคอีสาน เช่น งานบุญบั้งไฟ หรือบุญเดือนหก ประมาณเดือนพฤษภาคม งานบุญข้าวจี่ เป็นการฉลองเมื่อเสร็จสิ้นการทำนา ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ งานบุญพระเวส หรืองานบุญเดือนสี่ ประมาณเดือนมีนาคม มีการเทศน์มหาชาติ

ประเพณีรำผีฟ้า เป็นการรำบวงสรวงเป็นกลุ่มๆ ที่ภูพระ ซึ่งมีพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปแกะสลักในหินทราย สูงประมาณ 2 เมตร ชาวบ้านถือว่าศักดิ์สิทธิ์มาก การรำบวงสรวงนี้จะมีขึ้นในระหว่างวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 5 (เดือนเมษายน) และในวันเข้าพรรษา ออกพรรษา ซึ่งจะมีประชาชนไปทำบุญกันมาก

งานบุญเดือนสี่ เป็นงานประเพณีของชาวอำเภอคอนสาร ในวันขึ้น 1-3 ค่ำ เดือน 5 (ราวกลางเดือนมีนาคม) ในงานนี้ชาวบ้านจะนิยมเล่นสะบ้าแข่งขันกันเพื่อชิงรางวัลและความสนุกสนานในบริเวณวัดเจดีย์ อำเภอคอนสาร เป็นประเพณีแข่งขันสะบ้าที่พบเพียงแห่งเดียวในภาคอีสาน

ประวัติจังหวัดกาฬสินธุ์

ประวัติจังหวัดกาฬสินธุ์

 
กาฬสินธุ์ เป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์จังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน จากหลักฐานทางโบราณคดีบ่งบอกว่าเคยเป็นที่อยู่อาศัยของเผ่าละว้า ซึ่งมีความเจริญทางด้านอารยธรรมประมาณ 1,600 ปี จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เริ่มตั้งเป็นเมืองในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2336 โดยท้าวโสมพะมิตร ได้อพยพหลบภัยมาจากดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงพร้อมไพร่พล และมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำปาว เรียกว่า "บ้านแก่งสำโรง" แล้วได้นำเครื่องบรรณาการเข้าถวายสวามิภักดิ์ต่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ต่อมาได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า ยกฐานะบ้านแก่งสำโรงขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า "เมืองกาฬสินธุ์" หรือ "เมืองน้ำดำ" ซึ่งเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล "กาฬ" แปลว่า "ดำ" "สินธุ์" แปลว่า "น้ำ" กาฬสินธุ์จึงแปลว่า "น้ำดำ" ทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ท้าวโสมพะมิตรเป็น "พระยาชัยสุนทร" ครองเมืองกาฬสินธุ์เป็นคนแรก

กาฬสินธุ์อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ 519 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมด 7,055.07 ตารางกิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขาตามแนวเทือกเขาภูพาน ตอนกลางเป็นเนินเขา ลับป่าโปร่ง แบ่งการปกครองออกเป็น 14 อำเภอ 4 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ อำเภอ ยางตลาด อำเภอกมลาไสย อำเภอสหัสขันธ์ อำเภอสมเด็จ อำเภอกุฉินารายณ์ อำเภอท่าคันโท อำเภอเขาวง อำเภอห้วยเม็ก อำเภอคำม่วง อำเภอหนองกุงศรี อำเภอนามน อำเภอห้วยผึ้ง อำเภอร่องคำ กิ่งอำเภอสามชัย กิ่งอำเภอนาคู กิ่งอำเภอดอนจาน และกิ่งอำเภอฆ้องชัย

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อจังหวัดอุดรธานี สกลนคร
ทิศใต้ ติดต่อจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม
ทิศตะวันออก ติดต่อจังหวัดสกลนคร มุกดาหาร
ทิศตะวันตก ติดต่อจังหวัดมหาสารคาม ขอนแก่น และอุดรธานี

การเดินทาง
   รถยนต์ จากกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ ระยะทาง 519 กิโลเมตร ใช้เส้นทาง กรุงเทพฯ-สระบุรี-นครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 2) ถึงอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 23, 213 และทางหลวงหมายเลข 209 มหาสารคาม-กาฬสินธุ์
   รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดบริการเดินรถกรุงเทพฯ-กาฬสินธุ์ทุกวัน โดยมีบริการทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อสอบถามที่ สถานีขนส่งจตุจักร (หมอชิต 2) โทร. 0 2936 2841, 0 2936 1880, 0 2936 2852-66 หรือ www.transport.co.th
   รถไฟ ใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-สถานีรถไฟขอนแก่น จากขอนแก่นต่อรถประจำทางเข้ากาฬสินธุ์อีก 78 กิโลเมตร สำหรับกรุงเทพฯ-ขอนแก่นนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดบริการทั้งขบวนรถเร็ว รถด่วน และรถดีเซลรางปรับอากาศ รายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 สถานีรถไฟขอนแก่น โทร. 0 4322 1112 หรือ www.railway.co.th
    เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไม่มีเที่ยวบินบินตรงไปจังหวัดกาฬสินธุ์แต่สามารถใช้เส้นทางบินกรุงเทพฯ-ขอนแก่น แล้วต่อรถโดยสารเข้ากาฬสินธุ์ สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000 และ www.thaiairways.com หรือใช้บริการสายการบินพีบีแอร์ เส้นทางกรุงเทพฯ-ร้อยเอ็ด ซึ่งมีเที่ยวบินทุกวันยกเว้นวันอังคารและวันอาทิตย์ แล้วต่อรถโดยสารเข้ากาฬสินธุ์ สอบถามข้อมูลได้ที่โทร. 0 2261 0221-5 และ 0 4351 8572 หรือ http://www.pbair.com/




ระยะทางจากอำเภอเมืองไปอำเภอ และกิ่งอำเภอต่างๆ ในจังหวัดกาฬสินธุ์
1.กมลาไสย 12 กิโลเมตร
2.ยางตลาด 16 กิโลเมตร
3.สหัสขันธ์ 39 กิโลเมตร
4.ร่องคำ 39 กิโลเมตร
5.สมเด็จ 40 กิโลเมตร
6.นามน 42 กิโลเมตร
7.ห้วยเม็ก 48 กิโลเมตร
8.ห้วยผึ้ง 60 กิโลเมตร
9.หนองกุงศรี 62 กิโลเมตร
10.กุฉินารายณ์ 79 กิโลเมตร
11.คำม่วง 81 กิโลเมตร
12.ท่าคันโท 99 กิโลเมตร
13.เขาวง 103 กิโลเมตร
14.กิ่งอำเภอฆ้องชัย 26 กิโลเมตร
15.กิ่งอำเภอดอนจาน 32 กิโลเมตร
16.กิ่งอำเภอสามชัย 85 กิโลเมตร
17.กิ่งอำเภอนาคู 88 กิโลเมตร

การเดินทางในตัวจังหวัดกาฬสินธุ์มีรถสามล้อถีบ และสามล้อเครื่อง (รถสกายแล็บ) รับจ้างอยู่ทุกถนน และยังมีรถโดยสารระหว่างตัวจังหวัดวิ่งไปยังอำเภอต่างๆ อีกด้วย

งานประเพณี

1.งานมหกรรมโปงลาง แพรวา และกาชาด จังหวัดกาฬสินธุ์ จัดขึ้นปลายเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ภายในงานประกอบด้วยขบวนแห่ของแต่ละอำเภอ ตกแต่งขบวนเป็นรูปเครื่องดนตรีโปงลางขนาดยักษ์ แต่งกายชุดพื้นเมือง แข่งขันสาวดีดไห การประกวดธิดาแพรวา และจำหน่ายสินค้าพื้นเมืองต่างๆ

2.งานมหกรรมวิจิตรแพรวาราชินีแห่งไหม จัดขึ้นประมาณวันที่ 12 สิงหาคม ของทุกปี ณ โรงแรมริมปาว เพื่อเป็นการเทอดพระเกียรติแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ได้ทรงโปรดเกล้าฯ สนับสนุนส่งเสริมและรับงานการทอผ้าไหมแพรวาของชาวผู้ไทยเข้าไว้ในโครงการ ศิลปาชีพในพระบรมราชินูปถัมภ์ จนทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างอาชีพและรายได้ให้กับชาวผู้ไทยอีกด้วย ในงานจะมีการประกวดผ้าไหมแพรวา การแสดงแบบชุดแพรวา ขบวนแห่ทางวัฒนธรรม การสาธิตทอผ้าและจำหน่ายผ้าแพรวา

ประวัติจังหวัดยโสธร

ประวัติจังหวัดยโสธร


       จังหวัดยโสธรจากพงศาวดารเมืองยโสธรได้บันทึกไว้ว่า เมื่อราวๆ ปี พ.ศ. 2340 พระเจ้าวรวงศา (พระวอ) เสนาบดีเก่าเมืองเวียงจันทน์กับสมัครพรรคพวกเดินทางอพยพจะไปอาศัยอยู่กับเจ้านครจำปาศักดิ์ เมื่อเดินทางถึงดงผีสิงห์เห็นเป็นทำเลดี จึงได้ตั้งหลักฐานและสร้างเมืองที่นี่เรียกว่า "บ้านสิงห์ท่า" หรือ "เมืองสิงห์ท่า" ต่อมาใน พ.ศ. 2357 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ยกฐานะบ้านสิงห์ท่าแห่งนี้ขึ้นเป็น"เมืองยโสธร"ขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ มีเจ้าเมืองดำรงบรรดาศักดิ์เป็นพระสุนทรราชวงศา
       ในปี พ.ศ. 2515 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นจังหวัดยโสธร โดยประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 70 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2515 ได้แยกอำเภอยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย อำเภอป่าติ้ว อำเภอเลิงนกทา และอำเภอกุดชุม ออกจากจังหวัดอุบลราชธานี และรวมกันเป็นจังหวัดยโสธร ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2515 จังหวัดยโสธรมีเนื้อที่ ประมาณ 4,161 ตารางกิโลเมตร เป็นจังหวัดที่มีขนาดเล็กที่สุดในเขตอีสานตอนล่าง จังหวัดยโสธรแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ คือ อำเภอเมืองยโสธร คำเขื่อนแก้ว มหาชนะชัย ป่าติ้ว เลิงนกทา กุดชุม ค้อวัง ทรายมูล และไทยเจริญ

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดนครพนม
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดศรีสะเกษ
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดอุบลราชธานี
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดร้อยเอ็ด

การเดินทาง
    รถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรีจึงเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมาไปทางอำเภอพิมาย ผ่านอำเภอหนองสองห้อง และอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น แล้วจึงแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 23 ผ่านอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดร้อยเอ็ด อำเภอธวัชบุรี อำเภอเสลภูมิ และเข้าจังหวัดยโสธร รวมระยะทางประมาณ 531 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง
   รถโดยสารประจำทาง จากกรุงเทพฯ มีรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ สายกรุงเทพฯ-ยโสธร ทุกวัน รายละเอียดสอบถามได้ที่ สถานีเดินรถสายตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนกำแพงเพชร 2 โทร. 0 2936-2852-66 www.transport.co.th
   สำหรับผู้โดยสารโดยรถไฟหรือเครื่องบิน ลงที่จังหวัดอุบลราชธานี แล้วต่อรถยนต์มาลงที่ยโสธรอีก 99 กิโลเมตร

ระยะทางจากตัวเมืองไปอำเภอต่างๆ
1.ทรายมูล 18 กิโลเมตร
2.คำเขื่อนแก้ว 23 กิโลเมตร
3.ป่าติ้ว 28 กิโลเมตร
4.กุดชุม 37 กิโลเมตร
5.มหาชนะชัย 41 กิโลเมตร
6.ไทยเจริญ 50 กิโลเมตร
7.เลิงนกทา 69 กิโลเมตร
8.ค้อวัง 70 กิโลเมตร

งานประเพณี
งานประเพณีบุญบั้งไฟ มีขึ้นในวันเสาร์-อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ สวนสาธารณะพญาแถน โดยแต่เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งแสดงออกถึงความสามัคคีของหมู่คณะ และมีความเชื่อว่าเมื่อจัดงานนี้แล้ว เทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะดลบันดาลให้มีฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์


บั้งไฟแต่ละอันที่มาเข้าขบวนแห่ จะถูกตกแต่งประดับประดาอย่างสวยงามด้วยลวดลายไทยสีทอง เล่ากันว่าศิลปะการตกแต่งบั้งไฟนี้ นายช่างจะต้องสับและตัดลวดลายต่างๆ นี้ไว้เป็นเวลาแรมเดือน แล้วจึงนำมาทากาวติดกับลูกบั้งไฟ ส่วนหัวบั้งไฟนั้นจะทำเป็นรูปต่างๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปหัวพญานาคอ้าปากแลบลิ้นพ่นน้ำได้ บ้างก็ทำเป็นรูปอื่นๆ แต่ก็มีความหมายเข้ากับตำนานในการขอฝนทั้งสิ้น ตัวบั้งไฟนั้นจะนำมาตั้งบนฐาน ใช้รถหรือเกวียนเป็นพาหนะนำมาเดินแห่ตามประเพณี


บั้งไฟที่จัดทำมีหลายชนิดคือ มีทั้งบั้งไฟกิโล บั้งไฟหมื่น และบั้งไฟแสน บั้งไฟกิโลนั้นหมายถึง น้ำหนักของดินประสิว 1 กิโลกรัม บั้งไฟหมื่นก็ใช้ดินประสิว 12 กิโลกรัม บั้งไฟแสนก็ใช้ดินประสิว 120 กิโลกรัม เมื่อตกลงกันว่าจะทำบั้งไฟขนาดไหนก็หาช่างมาทำ หรือที่มีฝีมือก็ทำกันเอง ช่างที่ทำบั้งไฟนั้นสำคัญมาก ช่างจะต้องเป็นผู้มีฝีมือในการคำนวณผสมดินประสิวกับถ่านไม้ เพราะถ้าไม่ถูกสูตรบั้งไฟก็จะแตก คือไม่ขึ้นสู่ท้องฟ้า สำหรับไม้ที่จะทำเป็นเสาบั้งไฟนั้น ต้องมีไม้ไผ่ที่มีลำปล้องตรงกันเสมอกัน จะตัดเอาแต่ที่โคนต้น เพราะมีความหนาและเหนียว ความยาวนั้นแล้วแต่จะตกลงกัน


ในวันรุ่งขึ้นเป็นการจุดบั้งไฟ จะมีการแบกบั้งไฟไปยังฐานยิงในที่โล่ง ถ้าบั้งไฟของใครจุดแล้วยิงไม่ขึ้น คนทำจะถูกจับโยนลงในโคลน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมาขึ้น คนทำจะถูกจับโยนลงในโคลน ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมา

ประวัติจังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติจังหวัดอุบลราชธานี


      อุบลราชธานี เป็นเมืองใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ที่มีประวัติความเป็นมากว่า 200 ปี เล่ากันว่า ท้าวคำผง ท้าวทิดพรหม และท้าวก่ำ ซึ่งเป็นบุตรหลาน พระวอ พระตา หนีภัยสงครามจากพระเจ้าสิริบุญสาร เจ้าแห่งนครเวียงจันทน์เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของ พระเจ้าตากสินมหาราชและต่อมาได้สร้างเมืองขึ้นที่บริเวณดงอู่ผึ้ง ใกล้กับแม่น้ำมูล ครั้น พ.ศ. 2323 พระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาราชสุภาวดี เชิญตราพระราชสีห์มาพระราชทานนามเมืองว่า "อุบลราชธานี" ทรงให้ท้าวคำผงเป็นเจ้าเมืองคนแรกซึ่งต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "พระปทุมวงศา" เมืองอุบลราชธานีมีเจ้าเมืองสืบกันมาถึง 4 คน ตราบจนถึงปี พ.ศ. 2425 จึงได้มีการแต่งตั้งข้าหลวงและผู้ว่าราชการจังหวัดมาปกครองดูแลจนถึงทุกวันนี้
    อุบลราชธานีตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เป็นระยะทาง 629 กิโลเมตร สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นที่ราบสูงและภูเขา มีแม่น้ำมูลไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ และมีหน้าผาหินทรายบริเวณชายฝั่งแม่น้ำโขงอันเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและลาว จังหวัดอุบลราชธานี มีพื้นที่ประมาณ 15,744 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 20 อำเภอ และ 5 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ เดชอุดม บุณฑริก นาจะหลวย น้ำยืน พิบูลมังสาหาร โขงเจียม ศรีเมืองใหม่ ตระการพืชผล เขมราฐ ม่วงสามสิบ เขื่องใน กุดข้าวปุ้น ตาลสุม โพธิ์ไทร สำโรง สิรินธร ดอนมดแดง ทุ่งศรีอุดม กิ่งอำเภอนาเยีย กิ่งอำเภอนาตาล กิ่งอำเภอเหล่าเสือโก้ก กิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์และกิ่งอำเภอน้ำขุ่น




อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดอำนาจเจริญ
ทิศใต้ ติดกับราชอาณาจักรกัมพูชา ตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก
ทิศตะวันออก ติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดยโสธรและจังหวัดศรีสะเกษ

การเดินทาง
    รถยนต์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ไปสระบุรี เลี้ยวเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 24 (สายโชคชัย-เดชอุดม) ไปจนถึงอุบลราชธานี หรือใช้เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และเข้าสู่จังหวัดอุบลราชธานี
     รถโดยสารประจำทาง มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ ออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกวันสอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 0 2936 2852-66 ที่อุบลราชธานี โทร. 0 4524 1831 www.transport.co.th
     รถไฟ จากสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) และสถานีบางซื่อ มีรถด่วน และรถเร็ว สายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทุกวัน และยังมีรถธรรมดาจากนครราชสีมา-อุบลราชธานี และสุรินทร์-อุบลราชธานี อีกด้วย รายละเอียดสอบถามได้ที่หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 www.railway.co.th
    เครื่องบิน บมจ.การบินไทย มีเครื่องบินรับส่งผู้โดยสารระหว่างกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี ทุกวัน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000 หรือที่จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 0 4531 3340-3 http://www.thaiairways.com/

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่าง ๆ
1.อำเภอวารินชำราบ 2 กิโลเมตร
2.อำเภอสำโรง 28 กิโลเมตร
3.อำเภอตาลสุม 32 กิโลเมตร
4.อำเภอม่วงสามสิบ 34 กิโลเมตร
5.อำเภอดอนมดแดง 35 กิโลเมตร
6.อำเภอเขื่องใน 38 กิโลเมตร
7.อำเภอเดชอุดม 45 กิโลเมตร
8.อำเภอพิบูลมังสาหาร 45 กิโลเมตร
9.อำเภอตระการพืชผล 50 กิโลเมตร
10.อำเภอทุ่งศรีอุดม 74 กิโลเมตร
11.อำเภอกุดข้าวปุ้น 76 กิโลเมตร
12.อำเภอสิรินธร 80 กิโลเมตร
13.อำเภอศรีเมืองใหม่ 83 กิโลเมตร
14.อำเภอบุณฑริก 87 กิโลเมตร
15.อำเภอโพธิ์ไทร 99 กิโลเมตร
16.อำเภอนาจะหลวย 100 กิโลเมตร
17.อำเภอเขมราฐ 108 กิโลเมตร
18.อำเภอโขงเจียม 110 กิโลเมตร
19.อำเภอน้ำยืน 110 กิโลเมตร
20.กิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์ 23 กิโลเมตร
21.กิ่งอำเภอเหล่าเสือโก้ก 27 กิโลเมตร
22.กิ่งอำเภอนาเยีย 35 กิโลเมตร
23.กิ่งอำเภอนาตาล 93 กิโลเมตร
24.กิ่งอำเภอน้ำขุ่น 97 กิโลเมตร

งานประเพณี
1.งานแห่เทียนพรรษา เป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดอุบลราชธานี จัดให้มีขึ้นทุกปีในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา สถานที่จัดคือบริเวณทุ่งศรีเมือง มีการประกวดต้นเทียน 2 ประเภท คือประเภทติดพิมพ์ และประเภทแกะสลัก โดยขบวนแห่จากคุ้มวัดต่างๆ พร้อมนางฟ้าประจำต้นเทียนจะเคลื่อนขบวนจากหน้าวัดศรีอุบลรัตนารามไปตามถนนมาสิ้นสุดที่ทุ่งศรีเมือง ในตอนกลางคืนจะมีมหรสพและการแสดงสมโภชต้นเทียนและเห็นแสงไฟต้องลำเทียนงามอร่ามไปทั้งงาน
2.งานประเพณีมหาสงกรานต์แก่งสะพือ ในเดือนเมษายนของทุกปี ทางเทศบาลพิบูลมังสาหาร กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์แก่งสะพือขึ้นเป็นประจำ ในงานนอกจากจะมีการประกวดธิดาสงกรานต์แล้ว ยังมีการออกร้านจำหน่ายสินค้าของภาคเอกชน มีการละเล่นกีฬาพื้นเมือง และการประกวดการเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานอีกด้วย

3.งานเทศกาลไม้ดอกไม้ประดับ จัดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ บริเวณสนามกีฬาทุ่งคำน้ำแซบ อำเภอวารินชำราบ กิจกรรมที่น่าสนใจ คือ ขบวนรถบุปผชาติ การประกวดและจำหน่ายไม้ดอกไม้ประดับ

4.งานประเพณีไหลเรือไฟ จัดขึ้นในช่วงวันออกพรรษา (ประมาณเดือนตุลาคม) บริเวณเชิงสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีกิจกรรมที่น่าสนใจคือ การไหลเรือไฟของคุ้มวัดต่างๆ

5.งานแข่งขันเรือยาวประเพณี ตามลำน้ำมูลในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ในช่วงหลังจากเสร็จสิ้นงานบุญประเพณีออกพรรษา (ประมาณเดือนตุลาคม) แล้วมีการจัดแข่งขันเรือยาวประเพณีขึ้นหลายแห่ง และที่จัดขึ้นประจำได้แก่ เทศบาลเมืองอุบลฯ จัดขึ้นบริเวณสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี เทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร จัดขึ้นบริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำมูล วัดโพธิ์ตาก อำเภอพิบูลมังสาหาร จัดขึ้นบริเวณหน้างานประเพณี

ประวัติจังหวัดขอนแก่น

ประวัติจังหวัดขอนแก่น






                    หากจะอ้างถึงประวัติของจังหวัดขอนแก่นซึ่งเริ่มก่อตั้งเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 1 อายุเพียงแค่สองร้อยกว่าปีก็คงจะกล่าวไม่ได้ว่าเป็นเมืองเก่า แต่ที่จริงแล้วดินแดนบนที่ราบสูงแห่งนี้มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานมากไม่ว่าจะเป็นทางธรรมชาติ หรือทางอารยธรรม ดังที่มีการค้นพบซากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์อายุนับล้านปี พบชุมชนเมืองโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์หลายแห่ง ตลอดจนปราสาทขอมสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วยอารยธรรมที่สั่งสมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สิ่งที่พบที่นี่ไม่ว่าจะเป็น วัฒนธรรม ประเพณี โบราณสถานต่างๆ จึงล้วนเป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนให้ทราบความเป็นมาของคนไทยและชาติไทย
                  ขอนแก่นไม่เพียงจะเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานโดยเหตุผลทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและเทคโนโลยี ด้วยเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยขอนแก่นระบบสาธารณูปโภค และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภายในอำเภอเมืองรถโดยสารประจำทางวิ่งบริการหลายสาย มีที่พักบริการหลายระดับตั้งแต่ห้องพักราคาย่อมเยาว์ ไปจนถึงโรงแรมระดับห้าดาว สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพทางการท่องเที่ยวด้วย ขอนแก่นมีพื้นที่ประมาณ 10,885 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 19 อำเภอ 5 กิ่งอำเภอ
อาณาเขต ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภูและเลย
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดนครราชสีมาและบุรีรัมย์
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดกาฬสินธุ์ และมหาสารคาม
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดเพชรบูรณ์และชัยภูมิ
    การเดินทาง รถยนต์ ขอนแก่นอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ไปตามทางรถยนต์ 449 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ถึงจังหวัดสระบุรี ตรงหลักกิโลเมตรที่ 107 แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านจังหวัดนครราชสีมาถึงจังหวัดขอนแก่น
อีกเส้นทางหนึ่ง เมื่อถึงสระบุรีแล้วตรงไปตามถนนสระบุรี-ลำนารายณ์ แยกขวาเข้าเส้นทางม่วงค่อม-ด่านขุนทด-ชัยภูมิ-ขอนแก่น หรือสระบุรี-อำเภอลำนารายณ์-อำเภอเทพสถิต-ชัยภูมิ-อำเภอมัญจาคีรี-อำเภอพระยืน-ขอนแก่น
    รถโดยสารประจำทาง ใช้เวลาเดินทางประมาณ 7 ชั่วโมง รถออกจากสถานีขนส่งสายตะวันออกเฉียงเหนือ (หมอชิต 2 ) มีรถโดยสารธรรมดา รถปรับอากาศ และรถนอนพิเศษชนิด 24 ที่นั่ง วิ่งบริการทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0 2936 2852-66 สถานีขนส่งขอนแก่น 0 4323 7472 สถานีรถปรับอากาศ 0 4323 9910 www.transport.co.th
     รถไฟ มีขบวนรถไฟออกจากสถานีกรุงเทพฯ (หัวลำโพง) ผ่านจังหวัดขอนแก่น ไปจังหวัดอุดรธานี และหนองคายทุกวัน รถที่ให้บริการมีทั้งรถเร็ว รถด่วน และรถด่วนดีเซลรางปรับอากาศ สอบถามรายละเอียดได้ที่ หน่วยบริการเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 สถานีรถไฟขอนแก่น โทร. 0 4322 1112 www.railway.co.th
      เครื่องบิน บมจ. การบินไทย เปิดบริการเที่ยวบินกรุงเทพฯ-ขอนแก่น ทุกวัน สอบถามรายละเอียดได้ที่ บมจ. การบินไทย โทร. 1566, 0 2280 0060 , 0 2628 2000 และสำนักงานขอนแก่น โทร. 0 43 22 7701-5 www.thaiairways.com
การคมนาคมขนส่งภายในเมือง
มีบริการรถโดยสารให้เลือกหลายประเภท ได้แก่
- รถตุ๊กๆ ค่าโดยสารเริ่มต้นที่ราคา 30 บาท
- สามล้อปั่นราคาเริ่มต้นคือ 20 บาท ส่วนใหญ่จะวิ่งบริการภายในตัวเมืองและเขตเทศบาล
-รถโดยสารประจำทางขนาดเล็กวิ่งบริการในเขตเมืองขอนแก่นหลายสาย มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ
นอกจากนั้นยังมีรถโดยสารวิ่งระหว่างอำเภอเมืองขอนแก่นไปยังอำเภอต่างๆ ตลอดวัน
ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ
1.อำเภอกระนวน 66 กม.
2.อำเภอเขาสวนกวาง 49 กม.
3.อำเภอชนบท 55 กม.
4.อำเภอชุมแพ 82 กม.
5.อำเภอน้ำพอง 43 กม.
7.อำเภอบ้านไผ่ 44 กม.
8.อำเภอบ้านฝาง 22 กม.
10.อำเภอเปือยน้อย 80 กม.
11.อำเภอพระยืน 30 กม.
12.อำเภอพล 74 กม.
13.อำเภอภูผาม่าน 109 กม.
14.อำเภอภูเวียง 68 กม.
15.อำเภอมัญจาคีรี 58 กม.
16.อำเภอแวงน้อย 96 กม.
17.อำเภอแวงใหญ่ 72 กม.
18.อำเภอสีชมพู 114 กม.
19.อำเภอหนองเรือ 45 กม.
20.อำเภอหนองสองห้อง 96 กม.
21อำเภออุบลรัตน์ 50 กม.
22.กิ่งอำเภอโคกโพธิ์ไชย 75 กม.
23.กิ่งอำเภอซำสูง 39 กม.
24.กิ่งอำเภอบ้านแฮด 18 กม.
25.กิ่งอำเภอโนนศิลา 58 กม.
26.กิ่งอำเภอหนองนาคำ 80 กม.



งานประเพณี

1.เทศกาลดอกคูณเสียงแคน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี บริเวณบึงแก่นนคร กิจกรรมเริ่มด้วยการทำบุญตักบาตร การสรงน้ำพระ ภายในงานมีการจัดแสดงนาฏศิลป์พื้นบ้าน ขบวนเกวียนบุปผชาติ การประกวดอาหารอีสาน การแข่งเรือในบึงแก่นนคร การประกวดกลองยาว การแสดงบนเวทีและการออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง เป็นต้น

2.งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาด จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนธันวาคม เป็นเวลา 12 วัน 12 คืน บริเวณสนามกีฬากลางจังหวัด งานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยวนี้ สืบเนื่องมาจากประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอาชีพรองที่นอกเหนือจากการทำนา คือ การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าต่างๆ ซึ่งทางราชการได้ให้การสนับสนุนจนจังหวัดขอนแก่นเป็นแหล่งผลิตผ้าไหมที่มีชื่อเสียงประกอบกับมีประเพณีการผูกเสี่ยวซึ่งเป็นขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของภาคอีสานที่มุ่งให้คนรุ่นเดียวกันรักใคร่เป็นพี่เป็นน้องช่วยเหลือกัน เรียกว่า "คู่เสี่ยว" เพื่อมุ่งส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหมและรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมไว้ ในงานจะมีขบวนแห่คู่เสี่ยวและพานบายศรีของอำเภอต่างๆ มีพิธีผูกเสี่ยว การประกวดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน งานพาข้าวแลง(การรับประทานอาหารค่ำแบบพื้นเมืองอีสาน) การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการออกร้านจำหน่ายผ้าไหมและผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกต่าง ๆ

3.เทศกาลไหว้พระธาตุขามแก่น จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในวันเพ็ญเดือนหก (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6) ณ วัดเจติยภูมิ เป็นงานเฉลิมฉลองพระธาตุเพื่อให้ประชาชนได้สักการะพระธาตุคู่บ้านคู่เมือง ในงานมีการแสดงศิลปะพื้นบ้าน และการออกร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ