วันอาทิตย์, กันยายน 13, 2552

ประวัติจังหวัดบุรีรัมย์


ประวัติจังหวัดบุรีรัมย์

 บุรีรัมย์ เมืองแห่งความรื่นรมย์ตามความหมายของชื่อเมือง เป็นเมืองแห่งปราสาทหิน ดินแดนแห่งอารยธรรมขอมโบราณ ตั้งอยู่ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพฯโดยทางรถยนต์ประมาณ 410 กิโลเมตร จังหวัดบุรีรัมย์มีเนื้อที่ทั้งสิ้น 10,321 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 21 อำเภอ และ 2 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ นางรอง ลำปลายมาศ ประโคนชัย พุทไธสง สตึก กระสัง บ้านกรวด คูเมือง ละหานทราย หนองกี่ ปะคำ นาโพธิ์ หนองหงส์ พลับพลาชัย ห้วยราช โนนสุวรรณ เฉลิมพระเกียรติ ชำนิ โนนดินแดง บ้านกรวด ละหานทราย บ้านใหม่ไชยพจน์ กิ่งอำเภอแคนดง และกิ่งอำเภอบ้านด่าน

ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับการอยู่อาศัยของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และที่สำคัญที่สุด คือ ปราสาทขอมน้อยใหญ่กว่า 60 แห่ง ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไป อันแสดงถึงความรุ่งเรืองของบุรีรัมย์มาแต่ครั้งอดีตกาล รวมทั้งได้พบแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ คือ เตาเผาภาชนะดินเผาสมัยขอม กำหนดอายุได้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 15-18

หลังจากสมัยของวัฒนธรรมขอมหรือเขมรโบราณแล้ว หลักฐานทางประวัติศาสตร์ของบุรีรัมย์เริ่มมีขึ้นอีกครั้งตอนปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นเมืองขึ้นของนครราชสีมา และปรากฏชื่อต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี ถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยบุรีรัมย์มีฐานะเป็นเมืองๆ หนึ่ง จนถึง พ.ศ. 2476 ได้มีการจัดระเบียบราชการบริหารส่วนภูมิภาคใหม่ จึงได้เปลี่ยนเป็นจังหวัดบุรีรัมย์มาจนถึงปัจจุบันนี้

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดมหาสารคาม
ทิศใต้ ติดต่อกับจังหวัดสระแก้วและเทือกเขาพนมมาลัย ซึ่งกั้นเขตแดนระหว่างไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา
ทิศตะวันออก ติดต่อกับจังหวัดสุรินทร์
ทิศตะวันตก ติดต่อกับจังหวัดนครราชสีมา

การเดินทาง
   รถยนต์ จากกรุงเทพฯ เดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรี เลี้ยวขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) จากนั้นแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 24 (โชคชัย-เดชอุดม) ผ่านอำเภอหนองกี่ อำเภอนางรอง แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ตัวจังหวัดบุรีรัมย์ ตามทางหลวงหมายเลข 218 รวมระยะทาง 410 กิโลเมตร หรือจากนครราชสีมา ตามทางหลวงหมายเลข 226 ผ่านอำเภอจักราช-ห้วยแถลง-ลำปลายมาศ รวมระยะทาง 384 กิโลเมตร
   รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด เดินรถระหว่างกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ ทุกวัน มีทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศ รายละเอียดติดต่อได้ที่ โทร.0 2936 2852-66 สถานีขนส่งบุรีรัมย์ โทร. 0 4461 2534 www.transport.co.th
   รถไฟ มีรถไฟสายกรุงเทพฯ-อุบลราชธานี กรุงเทพฯ-สุรินทร์ และนครราชสีมา-อุบลราชธานี ทั้งที่เป็นขบวนรถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และรถดีเซลราง ผ่านสถานีบุรีรัมย์ทุกขบวน รายละเอียดติดต่อสอบถามได้ที่ 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 www.railway.co.th
   เครื่องบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) มีเที่ยวบินไปจังหวัดบุรีรัมย์โดยตรงโดยมีเที่ยวบินไปลงที่สนามบินอำเภอสตึก จากนั้นต่อรถเข้าตัวเมืองบุรีรัมย์เป็นระยะทางอีกประมาณ 40 กิโลเมตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 1566, 0 2280 0060, 0 2628 2000 www.thaiairways.com

การเดินทางภายในจังหวัด
    การเดินทางภายในตัวเมืองสามารถใช้บริการรถสามล้อรับจ้าง ตกลงค่าโดยสารก่อนใช้บริการ ส่วนการเดินทางระหว่างอำเภอมีรถโดยสารจากตัวเมืองบุรีรัมย์ไปยังอำเภอต่าง ๆ ระยะทางจากอำเภอเมือง ไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ เป็นดังนี้:- ห้วยราช 12 กิโลเมตร, กระสัง 32 กิโลเมตร, ลำปลายมาศ 32 กิโลเมตร, คูเมือง 33 กิโลเมตร, สตึก 40 กิโลเมตร, พลับพลาชัย 40 กิโลเมตร,นางรอง 54 กิโลเมตร, หนองหงส์ 60 กิโลเมตร, ประโคนชัย 44 กิโลเมตร, พุทไธสง 64 กิโลเมตร, โนนสุวรรณ 40 กิโลเมตร, บ้านกรวด 66 กิโลเมตร, เฉลิมพระเกียรติ 68 กิโลเมตร, นาโพธิ์ 78 กิโลเมตร, ปะคำ 78 กิโลเมตร,หนองกี่ 83 กิโลเมตร, ละหานทราย 100 กิโลเมตร,โนนดินแดง 92 กิโลเมตร, ชำนิ 70 กิโลเมตร, บ้านใหม่ไชยพจน์ 85 กิโลเมตร, บ้านด่าน 15 กิโลเมตร, แคนดง 56 กิโลเมตร

การเดินทางระหว่างจังหวัด
จากสถานีขนส่งบุรีรัมย์ มีรถโดยสารไปยังจังหวัดต่าง ๆ ดังนี้
รถธรรมดาไปนครราชสีมา ร้อยเอ็ด ขอนแก่น สุรินทร์
รถปรับอากาศไปเชียงใหม่ พัทยา ระยอง จันทบุรี สระแก้ว อุบลราชธานี นครราชสีมา กรุงเทพฯ
สอบถามสถานีขนส่งจังหวัดบุรีรัมย์ โทร. 0 4461 2534

งานประเพณี

นอกจากวันสำคัญทางศาสนา วันสงกรานต์ และวันขึ้นปีใหม่ ชาวบุรีรัมย์ยังมีขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่าง เช่น เทศกาลเดือน 5 มีการทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ รดน้ำให้ผู้สูงอายุ มีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น สะบ้า ชักเย่อ ฯลฯ บางท้องถิ่น เช่น อำเภอพุทไธสงจะมีการเซิ้งบั้งไฟ เทศกาลเข้าพรรษามีการประกวดเทียนเข้าพรรษา เทศกาลเดือน 12 มีประเพณีลอยกระทง แล้วยังมีงานประเพณีของชาวจังหวัดบุรีรัมย์ที่สืบต่อกันมาอีกหลายงาน เช่น

ประเพณีแข่งเรือยาวจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นงานประเพณีประจำปี กำหนดจัดในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูน้ำหลากในลำน้ำมูล ชาวเรือบุรีรัมย์และจากจังหวัดต่าง ๆ มาร่วมชุมนุมประลองฝีพายที่สนามแข่งเรือหน้าที่ว่าการอำเภอสตึก เพื่อแข่งขันความเป็นเจ้ายุทธจักรแห่งลำน้ำมูล ในแต่ละปีมีจำนวนเรือเข้าแข่งไม่น้อยกว่า 40-50 ลำ และยังมีขบวนเรือตกแต่งแฟนซีงดงามด้วย ประเพณีแข่งเรือยาวที่สนามแห่งนี้ เดิมเป็นประเพณีท้องถิ่นสังสรรค์กันในหมู่ญาติมิตรและสักการะเจ้าพ่อวังกรุด ซึ่งเป็นชื่อวังน้ำวนช่วงหนึ่งของแม่น้ำมูล ต่อมาได้จัดเป็นงานประเพณีของจังหวัดตั้งแต่ปี 2529 เป็นต้นมา

งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ปราสาทหินพนมรุ้งเป็นศาสนสถานในลัทธิพราหมณ์และได้รับการแปลงเป็นพุทธสถานในสมัยหลัง ช่วงที่ถูกทิ้งร้างอยู่มีผู้นำพระพุทธบาทจำลองไปประดิษฐานไว้ที่ปรางค์น้อยบนเขา กลายเป็นประเพณีของชาวบ้านรอบ ๆ บริเวณนั้นพากันขึ้นไปนมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทนี้รวมทั้งไหว้พระทำบุญในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี เนื่องจากปราสาทหินพนมรุ้งเป็นโบราณสถานที่ยี่งใหญ่สวยงามและเป็นประเพณีแต่เดิมอยู่แล้ว จังหวัดจึงได้ส่งเสริมให้มีงานประเพณีในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนเมษายน โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ อันเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมโบราณ ได้แก่ ขบวนแห่ราชประเพณีขอมโบราณ การแสดงแสง-เสียงย้อนรอยอดีตพนมรุ้ง และการแสดงระเบิดภูเขาไฟจำลอง

งานมหกรรมว่าวอีสานบุรีรัมย์ ช่วงฤดูเก็บเกี่ยวหรือย่างเข้าสู่ฤดูหนาวมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดแรง คนชนบทก็พากันทำว่าวแอก ซึ่งมีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเล่นกันทุกหมู่บ้าน เป็นประเพณีการละเล่นของท้องถิ่นอีสานแต่นานมา บุรีรัมย์จัดมหกรรมว่าวอีสานขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2529 เพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์ของอีสานใต้ให้คงอยู่และเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง เปิดโอกาสให้คนทุกตำบล ทุกหมู่บ้านทำว่าวแอกมาแข่งขันชิงรางวัลกัน ว่าวที่นำมาเข้าแข่งขันต้องมีขนาดปีกกว้าง 2 เมตรครึ่งขึ้นไป ตัดสินกันที่ความสวยงาม เสียงแอก และลีลาของว่าวบนท้องฟ้า นอกจากนี้มีการประกวดขบวนแห่ว่าวที่ยิ่งใหญ่สวยงาม ตอนค่ำมีมหรสพ การละเล่น และการแสดงสินค้าพื้นบ้าน งานมหกรรมว่าวอีสานจัดขึ้นที่สนามกีฬาจังหวัดอำเภอห้วยราชในวันเสาร์-อาทิตย์แรกของเดือนธันวาคมของทุกปี งานนมัสการพระเจ้าใหญ่ที่วัดหงษ์ (วัดศีรษะแรด) อำเภอพุทไธสง ในวันขึ้น 14 ค่ำถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 ทุกปีเป็นเทศกาลนมัสการปิดทองพระเจ้าใหญ่วัดหงษ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของบุรีรัมย์ มีการทำบุญไหว้พระและมีมหรสพต่าง ๆ มากมาย รวม 3 วัน

งานนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ที่เขากระโดง อำเภอเมือง จัดงานในวันเพ็ญเดือน 3 เช่นกัน ประชาชนจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลองและพระสุภัทรบพิตร ตลอดจนเที่ยวงานกันอย่างคับคั่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น