วันอาทิตย์, กันยายน 13, 2552

ประวัติจังหวัดมหาสารคาม


ประวัติจังหวัดมหาสารคาม

 มหาสารคาม เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ใจกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยความสงบ และเป็นศูนย์กลางทางด้านการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงได้ชื่อว่าเป็น "ตักศิลาแห่งอีสาน" เนื่องจากมีสถาบันการศึกษาอยู่มากมายหลายแห่ง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 475 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 5,291 ตารางกิโลเมตร แบ่งการปกครองออกเป็น 11 อำเภอ และ 2 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองมหาสารคาม กันทรวิชัย โกสุมพิสัย วาปีปทุม บรบือ พยัคฆภูมิพิสัย นาเชือก เชียงยืน นาดูน แกดำ ยางสีสุราช กิ่งอำเภอกุดรังและกิ่งอำเภอชื่นชม

อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดกาฬสินธุ์
ทิศใต้ ติดกับจังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดบุรีรัมย์
ทิศตะวันออก ติดกับจังหวัดร้อยเอ็ด
ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดขอนแก่น

การเดินทาง
   รถยนต์ จากกรุงเทพฯเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แล้วต่อด้วยทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ที่จังหวัดสระบุรี ผ่านจังหวัดนครราชสีมา (ทางหลวงหมายเลข 226) เข้าจังหวัดบุรีรัมย์(ทางหลวงหมายเลข 219) ผ่านอำเภอสตึก จังหวัดบุรีรัมย์ อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย อำเภอบรบือ เข้าสู่จังหวัดมหาสารคาม รวมระยะทางประมาณ 475 กิโลเมตร
    รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศบริการวันละหลายเที่ยว รายละเอียดสอบถามได้ที่สถานีเดินรถสายตะวันออกเฉียงเหนือ หมอชิต 2 โทร. 0 2936 2852-66 สำหรับบริษัทเดินรถเอกชนที่วิ่งบริการไปจังหวัดมหาสารคามคือ มงคลทัวร์ โทร. 0 4371 1072 กรุงเทพฯ โทร. 0 2936 3638-9 www.transport.co.th
    สำหรับผู้ที่เดินทางโดยรถไฟ หรือเครื่องบิน จะต้องลงที่จังหวัดขอนแก่น แล้วต่อรถยนต์มาจังหวัดมหาสารคามอีกประมาณ 72 กิโลเมตร

ระยะทางจากตัวเมืองไปยังอำเภอและกิ่งอำเภอต่างๆ
1.อำเภอกันทรวิชัย 18 กิโลเมตร
2.อำเภอบรบือ 26 กิโลเมตร
3.อำเภอโกสุมพิสัย 28 กิโลเมตร
4.อำเภอแกดำ 28 กิโลเมตร
5.อำเภอวาปีปทุม 40 กิโลเมตร
6.อำเภอเชียงยืน 55 กิโลเมตร
7.อำเภอนาเชือก 58 กิโลเมตร
8.อำเภอนาดูน 64 กิโลเมตร
9.อำเภอยางสีสุราช 70 กิโลเมตร
10.อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย 82 กิโลเมตร
11.กิ่งอำเภอกุดรัง 70 กิโลเมตร
12.กิ่งอำเภอชื่นชม 40 กิโลเมตร

งานประเพณี

งานแห่เทียนเข้าพรรษา (อำเภอโกสุมพิสัย) จัดขึ้นที่บริเวณที่ว่าการอำเภอโกสุมพิสัย โดยจัดก่อนวันเข้าพรรษาหนึ่งวัน ในงานจะมีขบวนแห่เทียนของคุ้มต่างๆ และมีการประกวดความสวยงามของเทียน

งานบุญบั้งไฟ (อำเภอนาเชือก) จัดขึ้นระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของทุกปี ณ บริเวณสนามที่ว่าการอำเภอนาเชือก ในงานมีการประกวดขบวนแห่บั้งไฟ การตกแต่งขบวนและประกวดบั้งไฟขึ้นสูง กลางคืนมีเวียนเทียน ทำบุญที่วัด มหรสพ และงานรื่นเริง การละเล่นต่างๆ

งานบุญเบิกฟ้าและกาชาด เป็นงานเฉลิมฉลองในช่วงต้นฤดูการทำนา ซึ่งตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี จัดบริเวณศาลากลางจังหวัด เพื่อเป็นการฟื้นฟูและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอีสาน ในงานจัดให้มีขบวนแห่บุญเบิกฟ้า ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระแม่โพสพ เรื่องของพานบายศรีสู่ขวัญ ตลอดจนวัฒนธรรม การละเล่น ดนตรีพื้นบ้าน และพิธีกรรมต่างๆ

งานนมัสการพระธาตุนาดูน จัดงานในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 (วันมาฆบูชา) ของทุกปี โดยจัดที่บริเวณพุทธมณฑลอีสานพระธาตุนาดูน รวม 5 วัน 5 คืน

งานออนซอนกลองยาวชาววาปี ของดีพื้นบ้าน (อำเภอวาปีปทุม) จะจัดงานเป็นประจำในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมีนาคมของทุกปี ณ สนามที่ว่าการอำเภอวาปีปทุม ในบริเวณงานจะมีการประกวดกลองยาวพื้นบ้านและกลองยาวประยุกต์ขบวนแห่คณะกลองยาว การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน การออกร้านจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง การประกวดธิดากลองยาวและมหรสพต่างๆมากมาย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น